การจัดการดินและการเตรียมแปลงปลูกพืชผัก


การจัดการดิน
ผักส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุค่อนข้างสั้น มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว จึงต้องการธาตุอาหารอย่างมากจากดินที่ปลูก
การเตรียมแปลงปลูกผัก
ในพื้นที่เปิดใหม่ หรือที่ไม่ได้มีการทำการเกษตรมาก่อน หรือแม้แต่พื้นที่ที่ปลูกพืชมานาน จนโครงสร้างของดินแน่นทึบ ก็จำเป็นต้องมีการไถพลิกดินขึ้นมาทำการย่อยดินให้ร่วนโปร่ง ลักษณะของแปลงปลูกผักที่เหมาะสมขึ้นกับสภาพพื้นที่ ในพื้นที่ลุ่มเขตภาคกลางของประเทศ เช่น นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร เพื่อการระบายน้ำที่ดี และความสะดวกในการให้น้ำ นิยมยกร่องกว้างและลึก แบบที่เรียกว่า ร่องจีน
การเพาะเมล็ดและเตรียมกล้าผัก
ในอดีตการปลูกผักนิยมทั้งวิธีการหว่านเมล็ดลงในแปลง และการเพาะเมล็ดลงในแปลงเพาะ ก่อนทำการย้ายกล้า แต่ในปัจจุบันมีการผลิตพันธุ์พืชดีออกมาใช้ ซึ่งเมล็ดมีราคาแพงมาก แต่มีคุณภาพดี ดังนั้นการปลูกจึงได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการเพาะกล้าก่อน แล้วจึงทำการย้ายกล้าที่แข็งแรงดีแล้วนั้นลงสู่แปลงปลูกอีกที ซึ่งวิธีนี้ช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ และยังได้ต้นพืชที่แข็งแรง สม่ำเสมอกัน
การดูแลรักษาแปลงผัก
การให้น้ำ ผักเป็นพืชอวบน้ำ จึงต้องการน้ำมาก ถ้าขาดน้ำ ผักจะเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวันที่อากาศร้อนและมีลมแรง ซึ่งชักนำให้พืชต้องคายน้ำมากเป็นพิเศษ ผักจะชะงักการเจริญเติบโต ถ้าผักได้รับน้ำไม่เพียงพอ ผลผลิตจะลดลงอย่างมาก ในระยะแรกเมื่อผักยังเล็ก จะต้องการน้ำไม่มากนัก
แปลงผักยกร่องกว้างแบบร่องจีน ในที่ราบลุ่มภาคกลาง การให้น้ำกระทำโดยวิดน้ำจากท้องร่องขึ้นมาราดบนสันแปลงปลูกผัก
แปลงปลูกบนที่ดอนแบบยกร่อง การให้น้ำสามารถกระทำได้โดยปล่อยน้ำเข้าท่วมร่องแล้ว ให้น้ำซึมเข้าสู่ด้านข้างแปลงทั้งสองด้าน
แปลงปลูกแบบไม่ยกร่องบนที่ดิน กระทำได้ 2 วิธีคือ
1. แบบฉีดพ่นฝอยเหนือหัว ที่เรียกว่า สปริงเกอร์ ด้วยการวางท่อน้ำเข้าไปในแปลงปลูก และจะมีท่อตั้งขึ้นมา ความสูงแล้วแต่ขนาดความสูงของผัก ที่ปลายสุดของท่อจะเป็นหัวจ่ายน้ำ ด้วยแรงดันของน้ำที่พ่นออกมากระทบแผ่นกระจายน้ำ สายน้ำจะถูกทำให้กระจายตัวออกเป็นฝอย พ่นออกครอบคลุมพื้นที่ส่วนหนึ่ง ซึ่งขึ้นกับแรงดันน้ำ และลักษณะของหัวจ่าย
2. แบบน้ำหยด เป็นการวางท่อน้ำเข้าไปในแปลงปลูกเช่นเดียวกัน แต่ท่อจะมีขนาดเล็กกว่า และวางชิดกับต้นพืชมากกว่า เมื่อผ่านต้นพืชแต่ละต้นจะมีรูเปิดเล็ก ๆ หรือท่อย่อยยื่นออกมายังโคนต้นพืช เพื่อปล่อยน้ำให้หยดลงใกล้กับโคนต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ของราก วิธีนี้ประหยัดน้ำมากที่สุดการให้ปุ๋ยแก่พืชผัก
ปุ๋ยที่ใช้ในการปลูกผัก แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ
1. ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์จะมีธาตุอาหารที่พืชต้องการครบถ้วน และมักจะมีอยู่ในปริมาณค่อนข้างมาก
2. ปุ๋ยอนินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยเคมีชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันดินปลูกผักมักขาดความอุดมสมบูรณ์ลง การใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวจะปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับผักไม่ทันใช้ จึงต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มให้กับผัก
การให้ปุ๋ยพืชผักในโรงเรือน ในต่างประเทศที่มีการปลูกผักในโรงเรือนและมีการให้น้ำไปตามท่อน้ำหยด จะมีระบบการผสมปุ๋ยที่อยู่ในรูปสารละลาย ให้ผสมไปกับน้ำในอัตราที่เหมาะกับระยะการเจริญเติบโตของผักไปพร้อม ๆ กัน ปุ๋ยดังกล่าวจะถูกละลายน้ำเตรียมไว้ในลักษณะที่มีความเข้มข้นสูง และมักแยกเป็นถังอย่างน้อย 2 ถัง เนื่องจากธาตุอาหารบางตัวเมื่ออยู่ในรูปที่เข้มข้น จะทำจับกันตกเป็นตะกอน จึงต้องแยกออกจากกัน จากถังเก็บน้ำปุ๋ยเข้มข้นมีท่อเชื่อมจากถังมายังระบบให้น้ำ และมีปั๊มที่จะดูดปุ๋ยจากแต่ละถังในปริมาณที่ต้องการมาผสมกับน้ำให้เจือจางลง และปล่อยไปตามท่อน้ำไปหยดลงที่ต้นผักโดยตรง
การตัดแต่งกิ่ง ผักบางชนิดที่มีลำต้นสูงและมีอายุยืน เช่น พริก มะเขือเทศ โดยเฉพาะที่ปลูกในโรงเรือน จะมีการตัดแต่งกิ่งบ้างเพื่อให้โปร่ง และตัดเอากิ่งและใบที่ไม่มีประโยชน์ออกไป ซึ่งได้แก่ กิ่งและใบด้านล่าง ซึ่งมีอายุมากแล้ว


ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่
http://www.ku.ac.th